วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ภาษาไทยกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง




ความหมายของภาษา

         คำว่าภาษาเป็นคำภาษาสันสฤต แปลตามรูปศัพท์หมายถึงคำพูดหรือถ้อยคำ ภาษาเป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่ใช้ในการสื่อความหมายให้สามารถสื่อสารติดต่อทำความเข้าใจกันโดยมีระเบียบของคำและเสียงเป็นเครื่องกำหนด ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่าภาษา คือ เสียงหรือกิริยาอาการที่ทำความเข้าใจกันได้ คำพูดถ้อยคำที่ใช้พูดจากัน
         ภาษาไทยจึงหมายถึง คำหรือถ้อยคำที่ใช้ในการสื่อสารติดต่อทำความเข้าใจกัน แต่จะเป็นภาษาที่ใช้ในประเทศไทย  สื่อสารกันเข้าใจกันโดยเฉพาะกลุ่ม           
         ภาษาไทยเป็นรูปแบบการสื่อสารที่สำคัญของคนไทย การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องจึงเป็น
สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถสื่อสารบอกความต้องการ ความรู้สึกของเราได้ และภาษาไทยถือเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ทรงได้ประดิษฐ์อักษรไทย
ให้คนไทยได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงของภาษาไทย

         ภาษา เป็นสื่อเสียงและสื่อสัญลักษณ์ของมนุษยชาติ และสั่งสมของบรรพบุรุษสืบทอดสู่ลูกหลาน  ภาษาเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่ายิ่งของชาติ  ชาติไทยเป็นชาติที่มีภาษาเป็นของตนเองมาตั้งแต่อดีตกาล บ่งบอกถึงความมีเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีที่น่าภาคภูมิใจ ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีการจัดวางระเบียบแบบแผนไว้อย่างประณีตบรรจง น่าฟังยิ่ง เพราะเรามีเสียงสระพยัญชนะ   และวรรณยุกต์ที่จะทำให้คำ มีเสียงและทำนองที่เปลี่ยนแปรไป นอกจากภาษาไทยอันเป็นภาษาราชการที่ใช้อยู่ทั่วไปแล้ว เรายังมี ภาษาถิ่นของภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน หรือภาคกลาง เป็นภาษาที่มีคุณค่าต่อสังคมเราเช่นกัน ทำให้สามารถสื่อสารกันด้วยความรู้ ความเข้าใจทั้งในการพูด อ่าน เขียน ในปัจจุบัน  
         อย่างไรก็ดี ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้วิถีชีวิตของประชาชนคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายแล้ว อิทธิพลของกระแสวัฒนธรรมต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าสู่สังคมไทยอย่างรวดเร็ว รวมทั้งรูปแบบและเทคนิคการสื่อสารสมัยใหม่ ยังมีส่วนทำให้ ภาษาไทยที่ใช้ในปัจจุบันทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมลงอย่างน่าเป็นห่วง  เนื่องจากคนไทยเองได้ละเลยต่อความสำคัญในการใช้ภาษาไทย และมีการใช้ภาษาที่ผิดเพี้ยนในการสื่อสารมาก
ขึ้นทุกที 

สาเหตุที่ทำภาษาไทยเปลี่ยนไป

1. การพูดจากันในชีวิตประจำวัน  ถ้าผู้พูดมิได้พยายามพูดให้ชัดเจน เสียงก็อาจกลายไปได้ เช่น อย่างนี้ กลมกลืนเป็นเสียง อย่างงี้ อันหนึ่ง กร่อนเสียงเป็น อนึ่ง นานๆเข้าคำที่เปลี่ยนไปก็ติดอยู่ในภาษา คำเดิมก็อาจค่อยๆสูญไป หรืออาจใช้ในความหมายที่ต่างจากเดิม                                                                  
2. อิทธิพลของภาษาอื่น  เมื่อมีการยืมคำหรือประโยคของภาษาอื่นมา เราอาจพยามเปลี่ยนแปลงให้มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาของเรา หรือบางทีมิได้ดัดแปลง ยังคงใช้ตามภาษาเดิม ก็อาจมีอิทธิพลทำให้ภาษาของเราเปลี่ยนแปลงไป คือมีเสียงเพิ่มขึ้น มีแบบประโยคเพิ่มขึ้น 
3. การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม  เมื่อมีสิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ กระบวนการใหม่ๆเกิดขึ้น ก็จะมีศัพท์ใช้เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ สิ่งที่เคยมีอยู่เดิม เมื่อเลิกใช้กันก็อาจทำให้คำที่ใช้เรียกสิ่งนั้นสูญไปจากภาษาด้วย หรือ ถึงแม้คำนั้นจะยังคงอยู่ คนรุ่นใหม่ก็อาจไม่รู้ความหมาย หรือเข้าใจความหมายผิดไปได้ เช่น ถ้าต่อไปมีผู้ใช้แต่หม้อหุงข้าวไฟฟ้าแทนหม้อหุงข้าวแบบเดิม คนรุ่นใหม่ก็จะไม่เข้าใจว่า ดงข้าว หมายความว่าอย่างไร

                                                 
4. การเรียนภาษาของเด็ก  เด็กเรียนภาษาจากบุคคลทั้งหลายที่ได้อยู่ใกล้ชิด เมื่อเด็กได้ฟังคำพูด ได้ฟังภาษาของบุคคลเหล่านั้น ก็ปรุงขึ้นเป็นภาษาของตนเอง เราจะสังเกตเห็นว่าภาษาของเด็กไม่เหมือนภาษาของผู้ใหญ่ เด็กอาจเข้าใจความหมายของคำ การออกเสียงคำ และใช้คำไม่ตรงกับผู้ใหญ่ แต่ก็อาจเป็นได้ว่า ภาษาของเด็กไม่ตรงกับผู้ใหญ่ทีเดียว เมื่อเด็กคนนั้นใช้ภาษาที่เคยใช้นั้นต่อไป ภาษาก็อาจเปลี่ยนไปได้ เช่น คำ หนู เคยเป็นภาษาของเด็กๆ ใช้เป็นสรรพนามแทนตัวเอง เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็ยังคงใช้คำนี้อยู่


         กลุ่มเฉพาะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาของภาษา คำศัพท์ใหม่ใหม่เกิดขึ้นมากโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น มีภาษาเฉพาะของกลุ่ม เมื่อภาษาเกิดมีการใช้กันใหม่ ทำให้มีคำศัพท์ใหม่นิยามขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตามเมื่อหมดการใช้ของคำศัพท์นั้นนั้น ภาษานั้นก็จะตกรุ่นและหมดความนิยมไป ยกตัวอย่างเช่นคำว่า จ๊าบ ที่มีการใช้กันในหมู่วัยรุ่น และเริ่มนิยมกันมากเมื่อสื่อนำไปใช้ในรายการโทรทัศน์ มีการถกเถียงเรื่องของภาษาวัยรุ่นที่ไม่นับว่าเป็นภาษาไทยกันมาก   แต่อย่างไรก็ตามเมื่อทุกคนใช้ภาษาเดียวกันและมีการสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน ย่อมถือได้ว่า ภาษาที่เกิดขึ้นมาใหม่ไม่ว่าจากวัยรุ่นหรือนักวิชาการ ยังคงเป็นภาษาไทย

                                                    
 ภาษาวิบัติ


        ภาษาวิบัติ หรือ ภาษาอุบัติ เป็นคำเรียกของการใช้ภาษาไทยที่มีการดัดแปลง และไม่ตรงกับภาษามาตรฐานตามหลักภาษาไทยในด้านการสะกดคำ คำว่าภาษาวิบัติใช้เรียกรวมถึงการเขียนที่สะกดผิดบ่อย และการใช้คำศัพท์ใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในพจนานุกรมหรือคำศัพท์ที่สะกดแปลกไปจากคำเดิม
        ขณะเดียวกันได้มีการใช้คำว่าภาษาอุบัติแทนที่คำว่าภาษาวิบัติที่มีความหมายในเชิงลบ โดยภาษาอุบัติหมายถึงภาษาที่เกิดขึ้นมาใหม่ ตอบสนองวัฒนธรรมย่อย   
        คำว่า "วิบัติ" มาจากภาษาบาลี มีความหมายถึง พินาศฉิบหาย หรือความเคลื่อนทำให้เสียหาย ขณะที่คำว่า "อุบัติ" เป็นภาษาบาลีเช่นกันมีความหมายว่า "เกิดขึ้น"
                                                       - ที่มาของภาษาไทยวิบัติ
           ภาษาวิบัติ เป็นภาษาที่นิยมใช้ในหมู่วัยรุ่นปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นจากการส่งเอสเอมเอสหรือข้อความสั้นๆ การส่งอีเมล์ การสนทนาออนไลน์(เอมเอสเอน) หรือการแสดงความคิดเห็นในโลกอินเตอร์เน็ต จนเดี๋ยวนี้ภาษาวิบัติถูกใช้อย่างแพร่หลายจนแทบจะกลายเป็นภาษาทางการของวัยรุ่นไปแล้ว  
ภาษาไทยกับวัยรุ่น
         ในปัจจุบันโลกของเราได้มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก ทำให้มีความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งการสื่อสาร วัยรุ่นในประเทศไทยยุคใหม่บางกลุ่มได้สร้างค่านิยมที่ผิดๆ มาใช้
คือ การใช้ภาษาไทยที่ผิดจากคำเดิม จึงทำให้ภาษาไทยของเราเปลี่ยนแปลงไป เยาวชนยุคหลังๆ จึงใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง
        วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีการสื่อสารกันมากและมีรูปแบบการสื่อสารด้วยคำที่ทันสมัย มีความหมายเฉพาะสำหรับกลุ่มและช่วงวัย วัยรุ่นจึงขาดความคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมของภาษาที่ใช้ให้เหมาะสมกับโอกาสและกาลเทศะ เช่น การพูดกับผู้ใหญ่ พูดในที่สาธารณะที่มิใช่เฉพาะกลุ่มของตน หรือการพูดติดต่อที่เป็นทางการ ควรใช้ถ้อยคำที่ไพเราะและใช้ภาษาที่ถูกต้องเหมาะสม จะช่วยให้มีพัฒนาการทางภาษาที่ดีในอนาคต   การใช้ภาษาไทยที่ผิดๆ ของวัยรุ่นเป็นสิ่งที่จะทำให้ภาษาไทยวิบัติลง ซึ่งจะเห็นได้จากที่วัยรุ่นใช้สื่อสารทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คำว่าทามอะไรอยู่ (ทำอะไรอยู่) เปนอะไร (เป็นอะไร)เพราะคำเหล่านี้ทำให้พิมพ์ง่าย สื่อสารกันได้เร็ว แต่ถ้าคิดอีกแง่มุมหนึ่ง การที่ภาษาไทยหนึ่งคำสามารถเขียนได้หลายแบบ เพราะภาษาไทยมีพยัญชนะที่ออกเสียงเหมือนๆ กัน มีสระที่เสียงคล้ายๆ กัน จึงทำให้สามารถเขียนออกมาได้หลายแบบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาษาไทยสามารถดัดแปลง เปลี่ยนแปลงคำได้หลากหลาย โดยที่ความหมายเหมือนเดิม แต่ลักษณะการเขียนผิดออกไปจากเดิม ทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางภาษาไทยที่มีความซับซ้อนและทำให้วัยรุ่นนิยมใช้ภาษาไทยที่มีความหมายละเอียดและกว้างจากความหมายเดิมมีมากขึ้น

สรุป

        ภาษาไทยจึงถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย  เพราะสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  จนเกิดเป็นคำหลายรูปแบบ  และใช้กันสื่อสารกันเปลี่ยนไปจากเดิม จนหลายๆฝ่ายกังวลกับการเปลี่ยนแปลงของภาษา  โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการสื่อสารมาก  อย่างกลุ่มวัยรุ่น  ที่มักจะมีคำใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย  แต่ถึงแม้จะเป็นไปตามกระแสทางวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต แต่การช่วยกันอนุรักษ์ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องจะช่วยให้ภาษาไทยที่เป็นภาษาประจำชาติกลับมาคงความสวยงามและมีความหมายอย่างถูกต้องเหมือนในอดีต

























18 ความคิดเห็น:

  1. เนื้อหาดีมีสาระมากครับ

    ตอบลบ
  2. น่าจะมีรูปบ้าง และตัวอักษรให้น่าสนใจหน่อย

    ตอบลบ
  3. ค่ะๆใส่เเล้ว ขอบคุณที่คอมเม้นค่ะ

    ตอบลบ
  4. เป็น บทความที่ดีมากเลย

    ตอบลบ
  5. เป็นบทความมที่ให้ความรู้มากเลยค่ะ

    ตอบลบ
  6. เตือนสติเด็กไทย คนไทยต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เป็นบทความที่ดีมากๆ

    ตอบลบ
  7. เราคนไทยต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องค่ะ

    ตอบลบ
  8. เราเป็นคนไทย ควรใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง !!!

    ตอบลบ
  9. ควรภูมิใจในภาษาไทยของเรา ช่วยๆกันอนุรักษ์

    ตอบลบ
  10. ดีมากเลยค่ะ เราควรใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง

    ตอบลบ
  11. ภาษาไทยใช้ให้เป็น

    ตอบลบ
  12. เนื้อหาดีมากเลยค่ะ

    ตอบลบ
  13. เนื้อหาดีมากค่ะ
    เป็นเรื่องที่วัยรุ่นสมควรรู้มากเลยค่ะ

    ตอบลบ
  14. เราต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแกคนอื่น

    ตอบลบ
  15. เนื้อหาดีมากคะ วัยรุ่นควรศึกษามากๆเลยค่ะ !!!

    ตอบลบ
  16. เราคนไทยควรใช้ภาษาให้ถูกต้อง

    ตอบลบ